อัตราการตายของคนไทยด้วยโรคมะเร็งน่าตกใจเหลือเกินค่ะ เพราะมีจำนวนกว่า 45,000 คนต่อปี สาเหตุหนึ่งก็มาจากการปนเปื้อนของสารพิษในอาหารและอันตรายจากสารปนเปื้อนในอาหาร ก็เป็นข่าวพาดหัวทางหนังสือพิมพ์เสมอ ยิ่งวิวัฒนาการของโลกสมัยใหม่พัฒนามากขึ้นเท่าใด อันตรายจากสารปนเปื้อนในอาหารก็อัพเดทความร้ายกาจ ให้เราได้ขนพองสยองเกล้ามากขึ้นเท่านั้นนะคะ ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้พิทักษ์ความปลอดภัยด้านอาหาร จะคอยสอดส่องดูแลให้ประชนชาวไทยกินดีมีสุขภาพแข็งแรง แต่เจ้าสารพิษร้ายในอาหารก็ไม่ยอมเหนื่อยหน่ายกับการทำลายสุขภาพของเราเสียที ล่าสุดโครงการอาหารปลอดภัย (Food Safety) โดยกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกมาเตือนในเรื่องภัยร้ายของสารแอฟลาทอกซินสารพิษที่เรามักเข้าใจว่าปนเปื้อนอยู่ในเฉพาะในถั่วลิสงบด เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วแอฟลาทอกซินยังสามารถปนเปื้อนอยู่ในอาหารได้อีกมากมายหลายชนิด วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าแอฟลาทอกซิน….ภัยร้ายที่มากับความอร่อย เพื่อที่เราจะได้อร่อยอย่างปลอดภัยมากขึ้นค่ะ แอฟลาทอกซิน..อยู่ ไหน คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าแอฟลาทอกซิน คือเชื้อราที่ปนเปื้อนอยู่เฉพาะใน ถั่วลิสงบดเท่านั้น จึงคิดว่า จะปลอดภัยจากแอฟลาทอกซินได้ หากไม่ใส่ถั่วลิสงบดเวลาที่ปรุงรสก๋วยเตี๋ยวแห้ง ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยหรืออาหารอื่นๆ หรือก่อนจะใส่ถ้าสังเกตว่าถั่วลิสงบดไม่ชื้น เหมือนกับว่าแม่ค้าร้านนั้นคั่วถั่วบดเอง ก็จะปลอดภัยจากแอฟลาทอกซิน แท้ที่จริงแล้ว แอฟลาทอกซินยังสามารถปนเปื้อนในอาหารชนิดอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ ข้าวโพด ข้าว กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น และกุ้งแห้ง เป็นต้น นอกจากนี้ แอฟลาทอกซินยังเจือปนอยู่ในอาหารบางชนิดที่เราคิดไม่ถึง เพราะได้มีการพบแอฟลาทอกซินเจือปนอยู่ในอาหารของ สัตว์ เมื่อสัตว์กินอาหารที่มีสารแอฟลาทอกซินเข้าไป ก็ทำให้พิษร้ายถ่ายทอดไปสู่ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เหล่านั้น เช่น น้ำ นม ไข่ หรือตกค้างในอวัยวะของสัตว์ เช่น ตับ ซึ่งเป็นอาหารที่นิยมบริโภคเป็นอย่างมาก
ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ผลงานวิจัยการศึกษาคุณค่าอาหารในน้ำนมแม่ โดยภาควิชาโภชนศาสตร์เขตร้อนและวิทยาศาสตร์อาหารคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีสารแอฟลาทอกซินปนเปื้อนอยู่ในน้ำนมแม่ โดยคาดว่าเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้เป็นแม่ หากแม่ชอบรับประทานอาหารประเภทถั่วที่มีจุดด่างดำหรือเป็นเชื้อรา ก็จะมีความเสี่ยงมากที่น้ำนมแม่จะปนเปื้อนสารแอฟลาทอกซิน สารพิษร้อนแรง…ที่ความร้อนฆ่าไม่ตาย แอฟลาทอกซิน คือสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อราบางชนิด สามารถทนความร้อนได้ถึง 260 องศาเซลเซียส ดังนั้นความเชื่อที่ว่าความร้อนจากการปรุงอาหารจะสามารถฆ่าเชื้อโรค หรือสารพิษร้ายทุกสิ่งทุกอย่างในอาหารได้ เห็นทีจะใช้กับเจ้าสารแอฟลาทอกซินไม่ได้แน่นอน มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่เจ้าแอฟลาทอกซินต้องยอมแพ้ คือ รังสีอุลตร้าไวโอเลต โดยเจ้าวายร้ายแอฟลาทอกซินจะสลายตัวเมื่อถูกรังสีอุลตร้าไวโอเลต ซึ่งมีอยู่ในแสงอาทิตย์ ดังนั้นการที่นำ ถั่วลิสงหรืออาหารแห้งไปตากแดดก่อนที่จะนำมาเก็บรักษา จึงเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ควรยึดถือ เพราะช่วยทำลายแอฟลาทอกซินได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ยังช่วยลดความชื้น ทำให้เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ส่งผลให้แอฟลาทอกซินซึ่งถูกสร้างจากเชื้อราลดลงตามไปด้วยแล้วจะเสียใจ… หากไม่ใส่ใจภัยร้ายจากแอฟลาทอกซิน แอฟลาทอกซินจัดเป็นสารปนเปื้อนในอาหารที่มีดีกรีความอันตรายอยู่ในระดับ หัวหน้าแ
ก๊งค์เลยทีเดียวค่ะ พิษภัยของแอฟลาทอกซิน จำแนกความน่ากลัวได้ หลายระดับดังนี้ค่ะ ความน่ากลัวระดับเล็ก น้อยถึงปานกลาง ถ้ารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของแอฟลาทอกซินในปริมาณมากๆ จะทำให้อาเจียน ท้องเดิน ความน่ากลัวระดับมากๆ หากรับประทานน้อยแต่บ่อยครั้ง แอฟลาทอกซินจะไปสะสมทำให้เกิดพิษเรื้อรัง โดยไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างโปรตีน ส่งผลให้ร่างกายสร้างเซลล์ผิดเพี้ยนหรือทำให้เกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ ความน่ากลัวระดับมากถึงมากที่สุด คือ หากเด็กได้รับสารแอฟลาทอกซินจะมีอาการชัก หมดสติ เกิดความผิดปกติของเซลล์ตับและเซลล์สมอง เด็กอาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 2 – 3 วันเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นภาวะเฉียบพลัน หลังจากได้รับสารพิษแล้วเป็นอันตรายอย่างมากหลีกหนีให้ไกลภัยร้ายก่อมะเร็ง รู้ถึงพิษภัยและความร้ายกาจของเจ้าแอฟลาทอกซินที่ปนเปื้อนในอาหารเช่นนี้ แล้วก็อดขนลุกไม่ได้นะคะ ทีนี้เราลองมาดูว่ามีวิธีใดบ้างที่จะหลีกหนีให้ไกลจากเจ้าภัยร้าย ตัวฉกาจที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งนี้ได้บ้างค่ะ ในการเลือกซื้ออาหารประเภทถั่วลิสงบด กุ้งแห้ง พริกแห้ง พริกไทย พริกป่น ต้องเลือกที่อยู่ในสภาพใหม่ ไม่แตกหัก ไม่ขึ้นรา หากดมดูมีกลิ่นเหม็นอับไม่ควรซื้อมารับประทาน ทุกครั้งที่เลือกซื้ออาหารจากตลาดสด ให้เลือกซื้อจากร้านที่มีป้ายอาหารปลอดภัย (FOOD SAFETY) เป็นสำคัญ อย่าประหยัดผิดวิธี โดยการนำอาหารที่ขึ้นรามาตัดส่วนที่ขึ้นราทิ้งไป แล้วนำอาหารส่วนที่เหลือขึ้นมารับประทาน เพราะอาหารชิ้นนั้นอาจมีสารแอฟลาทอกซินกระจายไปทั่วชิ้นแล้ว ดังนั้นอาหารที่ขึ้นราแล้วขอให้ทิ้งไปทั้งหมด เมื่อรับประทานอาหารตามร้านอาหารนอกบ้าน ควรระมัดระวังอาหารที่ต้องปรุงรส เช่น ก๋วยเตี๋ยว ผัดไท ยำ ส้มตำ ฯลฯ โดยสังเกตเค
รื่องปรุงรส ไม่ว่าจะเป็นพริกป่น พริกไทย ถั่วลิสงบด กุ้งแห้ง ว่ามีลักษณะอับชื้น มีกลิ่นหืน จับตัวเป็นก้อน มีสีผิดปกติ เช่น สีเหลืองคล้ำ หรือมีเชื้อราหรือไม่ หากไม่แน่ใจและรู้สึกว่าร้านจำหน่ายอาหาร นำเครื่องปรุงรสที่เก็บไว้นานๆ มาปรุงอาหารให้ก็ไม่ควรรับประทาน เพื่อความปลอดภัย ขอให้สังเกตร้านอาหารที่ได้รับป้าย อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) สำหรับท่านที่มีเวลาควรทำเครื่องปรุงรส ไม่ว่าถั่วลิสงบด พริกป่น ด้วยตนเอง ในปริมาณที่พอเหมาะกับการรับประทานของคนในครอบครัวและไม่เก็บไว้ในที่อับชื้น รวมทั้งไม่เก็บไว้นานเกินไป ทั้งนี้ต้องหมั่นตรวจสอบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ สำหรับคุณแม่ ควรระวังเรื่องสารแอฟลาทอกซินเป็นพิเศษ ในส่วนของคุณแม่ลูกอ่อนที่ต้องให้นมลูก ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของแอฟลาทอกซิน ส่วนคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ ก็ควรระมัดระวังในเรื่องอาหารของลูกเพราะอาจได้รับอันตรายจากภาวะเฉียบพลันหลังได้รับสารพิษได้ ความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราค่ะ อันตรายจากการปนเปื้อนของสารพิษในอาหารเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่เกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา ในทุกมื้ออาหารมีโอกาสเพียงสองครั้งเท่านั้นที่จะรับรู้ถึงพิษภัยของสารปนเปื้อนในอาหารครั้งแรก คือ รู้ล่วงหน้าแล้วระมัดระวัง โดยศึกษาทั้งจากข้อมูลที่รัฐบาลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเรื่องของอาหารปลอดภัย และข้อมูลความรู้ทั่วไป จากนั้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อความปลอดภัย ส่วนการรับรู้ครั้งที่สอง คือ รู้เมื่อสาย ซึ่งอาจเป็นเวลาที่คุณต้องรับรู้อย่างเจ็บปวด เพราะได้รับอันตรายจากสารพิษที่บริโภคเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นควรระมัดระวังและใส่ใจกับรายละเอียดเล็กน้อยในการบริโภคอาหารตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณและคนรอบข้างค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น